จริยธรรมการตีพิมพ์

มาตรฐานจริยธรรมในการตีพิมพ์และบทบาทหน้าที่

 

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร

วารสารวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมท้องถิ่น (Journal of Science and Area-based Innovation: JSAI)จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่บทความงานวิจัย บทความวิชาการ และงานวิจัยในกลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่นําไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับกลุ่ม ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด เผยแพร่องค์ความรู้แก่นักวิชาการและบุคคลทั่วไป และส่งเสริมให้นักศึกษา นักวิชาการในหน่วยงานราชการ หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้เสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณะ เพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใสและสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังนั้นวารสารวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเชิงพื้นที่ จึงกำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. บทความต้นฉบับต้องเป็นผลงานของผู้เขียนจริง โดยไม่แอบอ้างนำผลงานหรือลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเอง
  2. บทความไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่มาก่อน โดยไม่นําผลงานในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารหรือรายงานการประชุมวิชาการ (Proceedings) รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตน โดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการ ในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่
  3. ผู้เขียนจะไม่นำส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์หรือเผยแพร่ยังที่อื่น จนกว่าจะได้รับการอนุมัติถอนบทความจากบรรณาธิการ หรือบทความนั้นประเมินไม่ผ่าน
  4. ผู้เขียนได้อ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในการเขียนบทความ เพื่อแสดงหลักฐานของการค้นคว้า โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นหรือสิทธิมนุษยชน
  5. บทความได้มาจากการศึกษาโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์ ปราศจากอคติ และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่ขยายข้อค้นพบโดยปราศจากการตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
  6. หากบทความมีการใช้ข้อมูลจากการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ ผู้เขียนได้แสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่มีการดำเนินการไว้ในบทความแล้ว
  7. ผู้เขียนต้องจัดทำต้นฉบับตามข้อกำหนดของวารสารและต้องแก้ไขความถูกต้องของบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ

 

บทบาทและหน้าที่ของกองบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการและทีมงานมีหน้าที่ประเมินคุณค่าทางวิชาการของบทความต้นฉบับ คำนึงถึงวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสารเป็นสำคัญ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ศาสนา ปรัชญา การเมือง หรือสถาบัน และประเมินเบื้องต้นในการตัดสินใจคัดเลือกบทความเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์
  2. บรรณาธิการและทีมงานต้องรักษาความลับของบทความต้นฉบับและข้อมูลต่าง ๆ จนกว่าบทความจะเผยแพร่ ยกเว้นกรณีสงสัยว่าต้นฉบับบทความนั้นจะมีการกระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ เมื่อตรวจสอบแน่ชัดว่ามีการกระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์จริง บรรณาธิการสามารถถอนบทความออกจากการดำเนินการ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนบทความ
  3. บรรณาธิการและทีมงานต้องรักษาผลการพิจารณาต้นฉบับบทความและข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากผู้ประเมินบทความไว้เป็นความลับ รวมทั้งไม่นำข้อมูลต่าง ๆ ในบทความไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  4. บรรณาธิการและทีมงานต้องต้องมีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ 

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องตรวจสอบก่อนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์บทความหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอย่างอิสระ ต้องแจ้งบรรณาธิการและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
  2. ผู้ประเมินบทความช่วยบรรณาธิการในการตัดสินใจเผยแพร่บทความ และช่วยผู้เขียนปรับปรุงคุณภาพของบทความต้นฉบับในสาขาวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ โดยใช้หลักการและทฤษฎีทางวิชาการสนับสนุนข้อโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงประจักษ์ ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลรองรับเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  3. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
  4. ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญทางวิชาการ รวมทั้งผลงานวิจัยที่สอดคลองสัมพันธ์กับบทความที่กำลังประเมินให้ผู้เขียนด้วย หากพบว่ามีสิ่งอื่นใดของบทความมีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที