การพัฒนาและวิเคราะห์วัสดุปลูกสำหรับผักสลัดด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากการเพาะเห็ด

ผู้แต่ง

  • สุทธิรักษ์ อ้วนศิริ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ประเทศไทย

คำสำคัญ:

ก้อนเห็ดเหลือทิ้ง , วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร , วัสดุปลูก , ผักกินใบ , ผักสลัด

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์และที่มา : พื้นที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีการทำฟาร์มเห็ดจำนวนมาก โดยเฉพาะฟาร์มเห็ดสกุลนางฟ้า นางรม (Pleurotus spp.) ซึ่งเป็นการเพาะแบบใช้ก้อนเชื้อเห็ด และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการออกดอกเห็ดจะได้ก้อนเชื้อเห็ดเหลือทิ้ง ซึ่งการจัดการวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ด้วยการนำไปเป็นปุ๋ยในไร่นา และการนำมาเป็นส่วนผสมสำหรับการทำก้อนเห็ดใหม่ แต่วิธีการดังกล่าวอาจทำให้เกิดการถูกรบกวนจากเชื้อราตัวอื่นที่ปนเปื้อนมากับเชื้อเห็ดได้ ดังนั้นจึงใช้กระบวนการหมักชีวภาพเป็นตัวช่วยย่อยเชื้อเห็ดหรือเชื้อราต่าง ๆ และเป็นกระบวนการลดปริมาณคาร์บอนและไนโตรเจนลงเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อพืช  เพื่อให้วัสดุเหลือทิ้งจากการเพาะเห็ดมีศักยภาพสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตวัสดุปลูกพืชได้ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการทิ้งก้อนเห็ดเก่าออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ งานวิจัยนี้จึงนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรชนิดก้อนเห็ดเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ด้วยการนำไปทำเป็นวัสดุปลูกพืชด้วยการนำไปหมักกับวัสดุอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากฟาร์มเห็ดโดยนำมาทำวัสดุปลูกสำหรับผักสลัดและวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและทางเคมีของวัสดุปลูก

วิธีดำเนินการวิจัย : นำก้อนเห็ดเก่าหมักร่วมกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่ มูลวัว ใบก้ามปู แกลบดิบ ใบไผ่ ในอัตราส่วนต่าง ๆ จำนวน 5 สูตร และศึกษาผลของการหมักหลังจากหมักครบ  40, 50 และ 60 วัน จากนั้นนำวัสดุปลูกไปวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและทางเคมี ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ปริมาณฟอสฟอรัส และปริมาณโพแทสเซียม นำวัสดุปลูกทุกสูตรไปทดลองปลูกผักสลัดชนิดกรีนโอ๊ค (green oak lettuce) และเรดโอ๊ค (red oak lettuce) อายุ 15 วัน ขนาดความสูงต้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร มาปลูกในถุงปลูกขนาด 8x16 นิ้ว แต่ละชนิดบรรจุวัสดุปลูก 1 กิโลกรัม โดยแต่ละวัสดุปลูก ใช้จำนวนต้นพืช 30 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม และนำไปวางที่เรือนปลูกพืชทดลองที่ใช้สแลนสีดำกรองแสง 50%  รดน้ำอย่างน้อย วันละ 1-2 ครั้ง และวัดการเจริญเติบโต โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย ครั้งละ 3 ต้น ต่อผัก 1 ชนิด รวมเป็น 30 ต้นต่อวัสดุปลูกแต่ละชนิด โดยวัดความสูงต้น และนับจำนวนใบ สัปดาห์ละครั้ง จนครบระยะเวลาปลูก 6 สัปดาห์ และวัดขนาดพุ่ม ความยาวของราก และชั่งน้ำหนักสด หลังจากปลูกต้นพืชครบ 6 สัปดาห์ โดยก่อนการนำวัสดุปลูกไปวิเคราะห์จะต้องร่อนให้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายออกก่อน การศึกษานี้วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ โดยวัสดุปลูกแต่ละชุดทำซ้ำจำนวน 3 ครั้ง ข้อมูลที่ได้ถูกนำไปวิเคราะห์หาความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) ด้วยการทดสอบเอฟ (F-test) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของข้อมูลโดยวิธี Duncan’s  Multiple  Rang  Test  (DMRT) การศึกษานี้ใช้โปรแกรม Microsoft excel โดยวิเคราะห์ที่ระดับ p < 0.05 ข้อมูลแสดงค่าเฉลี่ย + ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation: S.D.)

ผลการวิจัย : หลังจากการหมัก 60 วัน วัสดุปลูกทุกสูตรมีการย่อยสลายได้ดี มีผลผลิตร้อยละ 60-75 โดยปริมาตร แสดงว่าก้อนเชื้อเห็ดเก่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยการนำมาเป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกได้ นอกจากนี้ วัสดุปลูกทุกสูตรแสดงค่าการวิเคราะห์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) โดยวัสดุปลูกที่เหมาะสมในการปลูกผักสลัด คือ สูตรที่ 2 ซึ่งมีอัตราส่วนผสมของก้อนเชื้อเห็ดเหลือทิ้ง : มูลวัว : ใบก้ามปู :  แกลบดิบ : ใบไผ่ เท่ากับ  1 : 1 : 1 : 1 : 1 ผลการวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและเคมีของวัสดุปลูกหลังจากหมักในตะกร้าพลาสติกเป็นเวลา 60 วัน พบว่า มีค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 6.0±0.06 ค่าการนำไฟฟ้า เท่ากับ 1.6±0.10 dS/m ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน เท่ากับ 7.23±0.01% ปริมาณอินทรีย์วัตถุ เท่ากับ  12.47±0.01% ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด  เท่ากับ 1.08±0.06% ปริมาณฟอสฟอรัสทั้งหมด เท่ากับ 0.22±0.00% และปริมาณโพแทสเซียมทั้งหมด เท่ากับ 0.57±0.02% เมื่อนำวัสดุปลูกดังกล่าวไปปลูกผักกินใบชนิดผักสลัด พบว่า ต้นพืชมีการเจริญเติบโตที่ดี สามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน 6 สัปดาห์ มีขนาดความสูงของต้นเฉลี่ย  25.4±0.06 ทรงพุ่มเฉลี่ย 32.2±0.06 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉลี่ย 92.4±5.73 กรัมต่อต้น โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยตลอดระยะเวลาการปลูก

สรุปผลการวิจัย : งานวิจัยนี้ได้นำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากฟาร์มเห็ดไปพัฒนาเป็นวัสดุปลูกสำหรับผักสลัดกรีนโอ๊คและเรดโอ๊ค ซึ่งเป็นผักสลัดที่มีการบริโภคที่สูง โดยนำก้อนเห็ดเก่าหมักร่วมกับวัสดุอินทรีย์ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันรวมทั้งสิ้น 5 สูตร หลังจากการหมัก 60 วัน ผลการศึกษาพบว่า วัสดุปลูกทุกสูตรมีการย่อยสลายได้ดี มีผลผลิตร้อยละ 60 - 75  โดยปริมาตร ทั้งนี้ วัสดุปลูกที่เหมาะสมคือวัสดุปลูกสตรที่ 2 ซึ่งที่มีส่วนผสมของ ก้อนเชื้อเห็ดเหลือทิ้ง : มูลวัว : ใบก้ามปู :  แกลบดิบ : ใบไผ่ ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 : 1 : 1  อีกทั้งการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของวัสดุปลูกสูตรนี้ พบว่า            มีปริมาณธาตุอาหารที่สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของพืชได้สูงกว่าวัสดุปลูกสูตรอื่น และเมื่อนำวัสดุปลูกสูตรที่ 2   ไปปลูกผักสลัด พบว่า ต้นพืชมีการเจริญเติบโตในภาพรวมที่ดีกว่าวัสดุปลูกสูตรอื่น ๆ ทั้งยังสามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน  40 วัน  โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มเติม

References

Alexander, M. (1977). Introduction to soil microbiology. 2nd Edition, John Wiley and Sons Inc. New York, USA

Department of Land Development. (2004). Soil and plant management to improve soils low in organic matter. Bangkok: Department of Land Development Ministry of Agriculture and Cooperatives. (in Thai)

Department of Land Development. (2010). Manual for the process of chemical soil analysis analysis. Bangkok: Department of Land Development Ministry of Agriculture and Cooperatives. (in Thai)

Food and Agriculture Organization of the United Nations. (1974). The Euphrates Pilot Irrigation Project. Methods of Soil Analysis, Gadeb Soil Laboratory (A Laboratory manual). Rome, Italy : Food and Agriculture Organization of the United Nations.

Mclean, E.O. (1982). Soil pH and lime requirement. P. 199-224, In: Page, A. L. (ed.), Methods of soil analysis Part 2: Chemical and microbiological properties. American Society of Agronomy, Madison, WI, USA

Meng, X., Dai, J., Zhang, Y., Wang, X., Wanbin, Z., Yuan, X., Yuan, H., & Cui, Z. (2018). Composted biogas residue & spent mushroom substrate as a growth medium for tomato & pepper seedlings. Journal of Environmental Management, 216(1), 62–69.

Naemsai, P. (2003). Effects of seedling media on the growth of vegetable seedlings. Mater Degree Thesis, Department of Horticulture, Faculty of Agricultural Production, Maejo University. (in Thai)

Nakatsuka, H., Oda, M., Hayashi, Y., & Tamura, K. (2016). Effects of fresh spent mushroom substrate of Pleurotus ostreatus on soil micromorphology in Brazil. Geoderma, 269(1), 54–60.

Office of Science for Land Development. (2004). Handbook for analyzing samples of soil, water, fertilizer, plants, soil amendments and analysis to certify product standards, Volume 1. Bangkok: Department of Land Development. (in Thai)

Palaaud, K., Muymas, P., & Plasal, K. (2018). Application of chitin and cow manure for increase the yield of “Butterhead” lettuce grown in pots. Khon Kaen Agriculture Journal, 46(1) SUPPL. 1, 344-349.

Saenmanoch, W. (2021). Efficiency enhancing of spent mushroom cultivation substrate–derived compost by using actinomycetes to green onion (Alliumcepa var. aggregatum) growth andincrease defense against phytopathogenic fungi. Prawarun Agricultural Journal, 18(2), 56–62. (in Thai)

Thongpradistha, S., Muadsri, T., & Sukkaew, A. (2020). The effect of organic fertilizer formula from Sajor-caju mushroom (Pleurotus sajor-caju) waste on macronutrients. Rajamangala University of Technology Srivijaya Research Journal, 12(1), 61-71. (in Thai)

Walkley, A. (1974). A critical examination of a rapid method for determining organic carbon in soil: Effect of variation in digestion conditions and of organic soil constituents. Soil Science, 63, 251-263.

Wongkrachang, S., & Rattaneetoo, B. (2018). Effects of media mixed with local residues in Narathiwat Province for Lactuca sativa var. crispa L. growth. Khon Kaen Agricultural Journal, 46 (SuppL.1), 115-1160. (in Thai)

Zhang, R.H., Duan, Z.Q., & Li, Z.G. (2012). Use of spent mushroom substrate as growing media for tomato & cucumber seedlings. Pedosphere, 22(3), 333–342.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2025-02-18

How to Cite

อ้วนศิริ ส. . . (2025). การพัฒนาและวิเคราะห์วัสดุปลูกสำหรับผักสลัดด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากการเพาะเห็ด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 30(1 January-April), 25–37. สืบค้น จาก https://li05.tci-thaijo.org/index.php/buuscij/article/view/435