การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาและเคยปลาในพื้นที่ทะเลน้อย : การวิเคราะห์และแนวทางลดการปนเปื้อน

ผู้แต่ง

  • พีรนาฏ คิดดี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ประเทศไทย
  • นันทิดา สุธรรมวงศ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ประเทศไทย / ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย

คำสำคัญ:

ไมโครพลาสติก , ปลา, เคยปลา , ผลิตภัณฑ์ชุมชน , อาหารปลอดภัย

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์และที่มา : พื้นที่ทะเลน้อยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบทะเลน้อยจำนวนหลายครัวเรือน จึงทำให้มีขยะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากครัวเรือนและการท่องเที่ยว ซึ่งขยะเหล่านี้อาจหลุดลอดลงสู่แหล่งน้ำ และขยะพลาสติกในแหล่งน้ำอาจย่อยกลายเป็นไมโครพลาสติก (Microplastics) ได้ โดยไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนในระบบนิเวศ และอาจส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากชุมชน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารท้องถิ่น ซึ่งพื้นที่ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญเป็นแหล่งรับน้ำ ท่องเที่ยว ประมง และการเกษตรโดยคนในชุมชนมีการนำปลาในพื้นที่ทะเลน้อยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการผลิตเคยปลา หรือ เรียกว่ากะปิปลา ที่มีการนำปลาทั้งตัวมาผลิตอาจทำให้มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกได้  ซึ่งเคยปลาเป็นสินค้าที่คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวนิยมบริโภคอย่างมาก ดังนั้นงานวิจัยนี้ศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติก ในปลาที่นิยมนำมาทำเป็นเคยปลา การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเคยปลา และกรรมวิธีในการผลิตเคยปลา เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงกรรมวิธีในการผลิตเคยปลาที่ปลอดภัยมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกน้อยที่สุดส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เคยปลาในพื้นที่ทะเลน้อยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต

วิธีดำเนินการวิจัย : การศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในปลา เคยปลา และกรรมวิธีการผลิตเคยปลาในพื้นที่ทะเลน้อย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ และการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยเก็บตัวอย่างปลาจำนวน  5 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดปลาที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนิยมนำมาทำเคยปลา ได้แก่ ปลากระดี่ (Trichogaster trichopterus) ปลาตะเพียน (Puntius goionotus) ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) ปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi) และปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata) ชนิดละ 60 ตัวอย่าง สำหรับการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเคยปลา โดยสุ่มเลือกซื้อและสอบถามจากผู้ผลิตเดิมจำนวน 5 แหล่ง ๆ ละ 3 ตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บข้อมูลทุก 2 เดือนทั้งในปลา และในเคยปลา รวมตัวอย่างปลาทั้งหมด 1,800 ตัวอย่าง และตัวอย่างเคยปลาทั้งหมด 90 ตัวอย่าง แล้วเตรียมตัวอย่างปลาและเคยปลาเพื่อวิเคราะห์หาไมโครพลาสติกต่อไปโดยศึกษาปริมาณ สี และรูปร่างของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในปลาและเคยปลา นอกจากนี้ศึกษากรรมวิธีในการผลิตเคยปลา ประกอบด้วยกรรมวิธีหลัก ได้แก่ ชนิดปลาหลักที่นำมาผลิตเคยปลา อุปกรณ์ในการสับปลา อุปกรณ์ในการหมักเคยปลา อุปกรณ์ในการย่อยหรือบดปลา อุปกรณ์ในการตากแดด ระยะเวลาในการหมัก ระยะเวลาในการตาก และภาชนะบรรจุเคยปลา การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบความแตกต่างของปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาแต่ละชนิด การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเคยปลากับวิธีการผลิตเคยปลาแต่ละประเภท ด้วยวิธี One way – Anova และการเปรียบเทียบพหุคูณ แบบ Duncan และเปรียบเทียบความแตกต่างในปลาแต่ละชนิด และเปรียบเทียบความแตกต่างในแต่ละกรรมวิธี ที่ระดับนัยสำคัญ เท่ากับ 0.05 ในโปรแกรม Excel เพื่อหาชนิดปลาที่มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกน้อยที่สุดในการเป็นข้อแนะนำในการเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตเคยปลา

ผลการวิจัย : เคยปลามีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเฉลี่ย 115.0 ± 119.7 ชิ้น/กิโลกรัม และปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเคยปลาที่มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุดคือ ปลาตะเพียน (Puntius goionotus) เฉลี่ย 365.5±276.0 ชิ้น/กิโลกรัม รองลงมาคือ ปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi) เฉลี่ย 321.8±224.1 ชิ้น/กิโลกรัม และมีการปนเปื้อนไมโคร พลาสติกน้อยที่สุดในปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) เฉลี่ย 162.2±108.0 ชิ้น/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาทั้ง 5 ชนิด ด้วยวิธี One-way Anova ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างชนิด พบว่า ส่วนใหญ่มีปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 0.05 ยกเว้นในปลากระดี่ (Trichogaster trichopterus) กับปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) ปลาตะเพียน (Puntius goionotus) กับปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi)  ปลาตะเพียน (Puntius goionotus) กับปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata) และปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi) กับปลาหมอช้างเหยียบ(Pristolepis fasciata) ที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสิถิติ นอกจากนี้พบว่าปลาขนาดเล็กมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกสูงกว่าปลาขนาดใหญ่ในปลาตะเพียน (Puntius goionotus) ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) ปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi) และปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata) อีกทั้งพบว่าไมโคร พลาสติกสีดำ และรูปร่างแบบเส้นใยปนเปื้อนในปลาและเคยปลาสูงสุด  และอุปกรณ์ในการทำเคยปลามีผลต่อปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการสับปลา หมักปลา และตากเคยปลา ถ้าใช้อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกจะมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 0.1

สรุปผลการวิจัย : การหาแนวทางการยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เคยปลาเพื่อลดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในพื้นที่ทะเลน้อย โดยการคัดเลือกชนิดปลาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเคยปลา ควรหลีกเลี่ยงการนำปลาตะเพียน (Puntius goionotus) หรือปลาหางแดง (Barbodes schwanenfeldi) รวมถึงปลาที่มีขนาดเล็ก และควรใช้อุปกรณ์ในการผลิตเคยปลาเป็นวัสดุที่ทำจากไม้ หรือหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกจะช่วยลดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเคยปลาได้ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นให้มีความปลอดภัยจากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกได้

References

Andrady, A. L. (2011). Microplastics in the marine environment. Marine Pollution, 62, 1589-193.

Barnes, D.K.A., Galgani, F., Thompson, R.C. & Barlaz, M. (2009). Accumulation and fragmentation of plastic debris in global environments. Philosophical Transactions of Royal Society B, 364, 1985–1998.

Chusri, W., Thongsawad, S., & Satsue, T. (2020). Developing standards for fish paste to community residents moo 12, Tambon Tha Ruea, Amphur Muang, Nakhon Si Thammarat. Journal of Cultural Approach, 21(40), 65-77. (in Thai)

Department of Fisheries. (2006). Fish Culture of Silver Barb. Bangkok: Cooperative of Agricultural Cooperative Printing of Thailand, Ltd. (in Thai)

Kemteng, S., Kiddee, P., & Sutummawong, N. (2019). Microplastics Contaminated in Puntius goionotus and Arius marculatus at Thale Noi. Research Report: Environmental Science Project Department of Biological and Environmental Sciences, Faculty of Science, Thaksin University. (in Thai)

Kim, C., Lee, S., Jeon, H., Kim, K. Kim, D., Lee, H. Park, S. & Lee, S. (2024). Microplastic characterization in small freshwater fishes collected in Gyeongan-cheon, a tributary stream of Han River in South Korea: Ingestion and depuration study of Nylon. Environmental Pollution, 363(Part 1), 125044.

Kim, L., Kim, H., Kim, T., & An, Y. (2025). Size- and shape-dependent effects of polyethylene terephthalate microplastics on the benthic crustacean Artemia franciscana. Marine Pollution Bulletin, 211, 117391.

Leslie, H. A., van Velzen, M.J.M., Brandsma, S.H., Vethaak, A.D., Garcia-Vallejo, J.J., & Lamoree, M.H. (2022). Discovery and quantification of plastic particle pollution in human blood. Environment International,163,107199.

Mathalon, A., & Hill, P. (2014). Microplastic fibers in the intertidal ecosystem surrounding Halifax Harbor, Nova Scotia. Marine pollution bulletin, 81(1), 69-79.

Okamoto, K., Nomura, M, Horie, Y., & Okamura, H. (2022). Color preferences and gastrointestinal-tract retention times of microplastics by freshwater and marine fishes. Environmental Pollution, 304, 119253.

Özsoy, S., Gündogdu, S., Sezigen, S., Tasalp, E., Ikiz, D.A., & Kideys, A.E. (2024). Presence of microplastics in human stomachs. Forensic Science International, 364, 112246.

Prempridi, S., Khawsang, S. & Thammakirati, N. (2017). Study of Microplastics in Short Mackerel (Rastrelliger brachysoma) at Hat Chao Mai National Park, Trang Province. Marine National Park Operation Center 3, Trang Province.

Schwabl, P., Köppel, S., Königshofer, P., Bucsics, T., Trauner, M., Reiberger, T., & Liebmann, B. (2019). Detection of Various Microplastics in Human Stool: A Prospective Case Series. Annals of Internal Medicine. 171(7) 453-457.

Tanaka, K., & Takada, H. (2016) Microplastic fragments and microbeads in digestive tracts of planktivorous fish from urban coastal waters. Scientific Reports, 6, 34351.

Wongroj S. (2004). A Taxonomic study on the Freshwater fishes in the eastern area of Bangkok. Graduate School, Srinakharinwirot University. (in Thai)

Xiong X., Tu, Y., Chen, X., Jiang, X., Shi, H., Wu, C., & Elser, JJ. (2019). Ingestion and egestion of polyethylene microplastics by goldfish (Carassius auratus): influence of color and morphological features. Heliyon, 5(12), e03063,

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2025-03-26

How to Cite

คิดดี พ. . ., & สุธรรมวงศ์ น. . . (2025). การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาและเคยปลาในพื้นที่ทะเลน้อย : การวิเคราะห์และแนวทางลดการปนเปื้อน. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 30(1 January-April), 229–245. สืบค้น จาก https://li05.tci-thaijo.org/index.php/buuscij/article/view/615