การศึกษาพฤติกรรมการอาบแดดของแมวป่าหัวแบนเบื้องต้น
คำสำคัญ:
แมวป่าหัวแบน, พฤติกรรม, การอาบแดด, สวนสัตว์สงขลาบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์และที่มา : แมวป่าหัวแบน เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น (Wilting et al., 2015) ที่มีรายงานการพบน้อยมากในพื้นที่ธรรมชาติของไทย และเหลือในกรงเลี้ยงในประเทศไทยที่สวนสัตว์สงขลา จังหวัดสงขลา เพียง 4 ตัว (เพศผู้ 3 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว) ข้อมูลเกี่ยวกับแมวชนิดนี้มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ส่งเสริมให้แมวที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของโอกาสและความสำเร็จในการขยายพันธุ์ งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาพฤติกรรมการอาบแดดที่สามารถพบเห็นได้ในแมวชนิดนี้ ที่อาจช่วยการรักษาอุณหภูมิของร่างกายของสัตว์ให้เป็นปกติ เป็นการผ่อนคลายหรือพักผ่อนร่างกาย ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกาย และอาจช่วยลดปรสิตต่าง ๆ การศึกษาพฤติกรรมการอาบแดดของแมวป่าหัวแบนในกรงเลี้ยงนี้เป็นการศึกษาในเบื้องต้น ในแมวเพศผู้และเพศเมียที่อาศัยอยู่ในกรงเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น และนำผลการศึกษาไปใช้แนะนำด้านการดูแลแมวในกรงเลี้ยงให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
วิธีดำเนินการวิจัย : การศึกษานี้ศึกษาแมวป่าหัวแบนเพศเมียและเพศผู้ อายุ 12 และ 13 ปี ตามลำดับ ที่อยู่ในกรงหรือคอกเลี้ยงในสวนสัตว์สงขลา กรงเลี้ยงของแมวแต่ละตัวมีขนาดรวม 18 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่โล่งและพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ และมีกล่องไม้หรือโพรงดินสำหรับเป็นที่พักของแมว ภายในกรงเลี้ยงมีแสงแดดส่องถึง และมีสระน้ำขนาด 3 ตารางเมตร ที่มีการเติมน้ำอย่างสม่ำเสมอและมีการปล่อยปลาไว้ในสระ ตามปกติแมวจะถูกแยกไว้คนละคอก แต่ช่วงที่ศึกษามีการเปิดที่กั้นระหว่างคอกเพื่อทำการรวมแมวเพศเมียและเพศผู้ให้อยู่ด้วยกัน ภายในคอกมีการติดกล้องวงจรปิดของสวนสัตว์สงขลาในมุมสูงและปากกล่องไม้และโพรงนอนของแมว และในการศึกษานี้ได้ติดตั้งกล้องทั้งมุมสูงและมุมล่างเพิ่มเติมอีกคอกละ 5 ตัว เพื่อให้สามารถเห็นแมวได้ต่อเนื่องมากที่สุด การศึกษาพฤติกรรมการอาบแดดของแมวทำโดยบันทึกวิดีโอจากกล้องวงจรปิดทั้งหมดภายในกรงเลี้ยงของแมวทั้งสองตัว ระหว่างวันที่ 25–30 มกราคม 2565 นำวิดีโอมาสังเกตพฤติกรรมแมวแต่ละตัวในช่วงการอาบแดดอย่างต่อเนื่อง จำแนกเป็นพฤติกรรมหลักและพฤติกรรมย่อยโดยเปรียบเทียบกับ Stanton et al. (2015) เป็นหลัก บันทึกช่วงเวลาและระยะเวลาของแต่ละพฤติกรรม เปรียบเทียบระยะเวลาและความถี่ของแต่ละพฤติกรรม และเปรียบเทียบพฤติกรรมแต่ละวันของแมวเพศเมียและเพศผู้
ผลการวิจัย : ผลการศึกษาพฤติกรรมการอาบแดดในเบื้องต้นนี้ พบว่าวันที่ 25–26 มกราคม 2565 มีแสงแดดน้อย พบว่าแมวไม่ออกมาอาบแดด วันที่ 27–30 มกราคม 2565 มีแสงแดดมาก แมวออกมาอาบแดด ในช่วงเวลา 08.00–10.49 น. แมวเพศเมียใช้เวลาอาบแดดมากกว่าเพศผู้ คือ มีระยะเวลาการอาบแดด 7 นาที 49 วินาที ถึง 2 ชั่วโมง 23 นาที 58 วินาที (เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 16 นาที 43 วินาที ± 1 ชั่วโมง 45 วินาที) ส่วนแมวเพศผู้อาบแดดเป็นระยะเวลา 0 นาที ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที 50 วินาที (เฉลี่ย 33 นาที 23 วินาที ± 31 นาที 48 วินาที) โดยแมวแมวเพศเมียอาบแดดเป็นระยะเวลาสั้นและไม่ออกมาบริเวณพื้นที่โล่งในวันที่มีการรดน้ำต้นไม้ ส่วนแมวเพศผู้ไม่ออกมาอาบแดดเลย พฤติกรรมหลักพบการนอนพัก การนอนหลับ การนั่ง การยืน และการเดิน พฤติกรรมหลักที่พบมากที่สุด ได้แก่ การนอนพัก (53.5–94.5% ในเพศเมีย, 63.3–79.2% ในเพศผู้) มากที่สุด รองลงมาเป็นการนอนหลับ (0–44.8% ในเพศเมีย, 0–35.6% ในเพศผู้) ส่วนการนั่ง ยืน และเดิน พบในสัดส่วนเล็กน้อย สำหรับพฤติกรรมย่อยพบ 19 พฤติกรรม (ได้แก่ การมอง การมองแมวตัวอื่น การสูดดมกลิ่น การสูดดมกลิ่นแมวตัวอื่น การทำความสะอาดร่างกาย การสะบัดหัว การสะบัดตัว การไล่แมลงโดยใช้หัวขณะนอนหมอบ การยืดเหยียดตัว การหาว การยองและเดินฉี่ การอ้าปากระบายความร้อน การขู่ การจ้องแมวตัวอื่น การล่าถอย การถูตัวกับวัตถุ การสูดดมแล้วเผยอและเลียริมฝีปาก และการมองปลาหรือวัตถุในสระน้ำ) และแตกต่างออกไปในแต่ละวัน ซึ่งพฤติกรรมที่พบในการศึกษานี้นอกเหนือจากใน Stanton et al. (2015) ได้แก่ การไล่แมลง การอ้าปากระบายความร้อน และการมองสิ่งต่าง ๆ ในสระน้ำ สำหรับพฤติกรรมอาบแดดเอง ก็ไม่ได้ระบุไว้ใน Stanton et al. (2015) เช่นกัน ความถี่ของพฤติกรรมย่อยที่พบมากที่สุดในแมวเพศเมีย ได้แก่ การมอง การสูดดมกลิ่น การมองแมวเพศผู้ และการทำความสะอาดร่างกาย ส่วนในแมวเพศผู้พบ การสูดดมกลิ่น การมอง การทำความสะอาดร่างกาย และการมองแมวเพศเมีย มากที่สุด ส่วนระยะเวลาที่แมวทั้งสองตัวใช้มากที่สุดในระหว่างการอาบแดด ได้แก่ การมองไปมา พฤติกรรมทางสังคมที่พบ เช่น การมองและสูดดมแมวเพศตรงข้าม การขู่ การเลี่ยงจากการถูกขู่ การจ้องแมวเพศตรงข้าม และการล่าถอย ระหว่างหรือหลังการอาบแดดแมวมีการเดินไปแช่น้ำและกินน้ำในสระน้ำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะของแมวที่มีถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งนี้ พฤติกรรมการแช่น้ำไม่ได้บันทึกในรายงานนี้เนื่องจากเกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายแมวไม่ได้สัมผัสแสงแดด นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการอาบแดดมักพบว่าแมวมีการอ้าปากระบายความร้อนซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะการสูญเสียน้ำ พฤติกรรมในแมวเพศผู้และเพศเมียในแต่ละวันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.017)
สรุปผลการวิจัย : แมวป่าหัวแบนอาบแดดในวันที่มีแสงแดดมาก ในช่วงเวลาประมาณ 08.00–11.00 น. แมวเพศเมียใช้เวลาอาบแดดเฉลี่ยมากกว่าแมวเพศผู้ พฤติกรรมหลักส่วนใหญ่ ได้แก่ การนอนพัก และการนอนหลับ พฤติกรรมย่อยพบ 19 พฤติกรรม ที่สำคัญได้แก่ การมองไปมา การสูดดมกลิ่น และการทำความสะอาดร่างกาย พฤติกรรมทางสังคม ได้แก่ การมองและการสูดดมกลิ่นแมวเพศตรงข้าม การขู่ และการหลบเลี่ยงเมื่อถูกขู่ เป็นต้น ในแต่ละวันพฤติกรรมย่อยในแมวเพศเมียและเพศผู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.017) การศึกษานี้แนะนำให้คำนึงถึงพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงสำหรับการอาบแดดของแมว หลีกเลี่ยงการรบกวนแมวช่วงที่กำลังอาบแดด
References
Altman, J. (1974). Observational study of behaviors: Sampling methods. Behaviour, 49, 227–267.
Baker, M.A. (1984). Cardiovascular and respiratory responses to heat in dehydrated dogs. American Journal of Physiology, 246(3 Pt 2), R369-74.
Boyer, D.R. (1965). Ecology of the basking habit in turtles. Ecology, 46(1/2), 99–118.
Bush, S.E., & Clayton, D.H. (2018). Anti-parasite behaviour of birds. Philosophical transactions of the Royal Society B: Biological Sciences, 373(1751), 20170196.
Danaisawadi, P., Piriyarom, S., Krasaeden, W., Pramkasem, S., Rurkkhum, S., & Yimprasert, S. (2023). Time budget and activity patterns during the mating period of flat-headed cat Prionailurus planiceps in captivity. Tropical Natural History, 7, 221–228.
Geiser, F., Goodship, N., & Pavey, C. (2002). Was basking important in the evolution of mammalian endothermy?.Naturwissenschaften, 89(9), 412–414.
Houston, D.C. (1980). A possible function of sunning behaviour by griffon vultures, Gyps spp., and other large soaring birds. Ibis, 122(3), 366–369.
Lekagul, B., & McNeely, J. (1988). Mammals of Thailand. Bangkok: Association for the Conservation of Wildlife.
Quenette, P.-Y. (1990). Functions of vigilance behaviour in mammals: a review. Acta Ecologica, 11(6), 801–818.
Stanton, L.A., Sullivan, M.S., & Fazio, J.M. (2015). A standardized ethogram for the Felidae: A tool for behavioral researchers. Applied Animal Behaviour Science, 173, 3–16.
Steinbrecher, F., Dunn, J.C., Price, E.C., Buck, L.H., Wascher, C. , & Clark, F.E. (2023). The effect of
Anthropogenic noise on foraging and vigilance in zoo housed pied tamarins. Applied Animal Behaviour Science, 265, 105989.
Subagyo, A., Supriatna, J., Andayani, N., Mardiastuti, A., & Sunarto, S. (2020). Diversity and activity pattern of wild cats in Way Kambas National Park, Sumatra, Indonesia. IOP Conference Series: Earth and Environmental Science, 481, 012005.
Sunquist, M., & Sunquist, F. (2002). "Flat-headed cat Prionailurus planiceps (Vigors & Horsfield, 1827)". Wild Cats of the World. Chicago: The University of Chicago Press.
Susan, M.C., & Macdonald, D. (2011). Wild felid diversity and activity patterns in Sabangau peat-swamp forest, Indonesian Borneo. Oryx, 45, 119–124.
Welp, T., Rushen, J., Kramer, D.L., Festa-Bianchet, M., & Passillé, A.M.B. (2004). Vigilance as a measure of fear in dairy cattle. Applied Animal Behaviour Science, 87(1–2), 1–13.
Wilting, A., Brodie, J., Cheyne, S., Hearn, A., Lynam, A., Mathai, J., McCarthy, J., Meijaard, E., Mohamed, A., Ross, J., Sunarto, S., & Traeholt, C. (2015). Prionailurus planiceps. The IUCN Red List of Threatened Species, e.T18148A50662095.

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2025 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
Burapha Science Journal is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated. Please read our Policies page for more information