สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดสารลูทีน และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากดอกดาวเรืองโดยใช้อัลตราโซนิค

ผู้แต่ง

  • นิภาธร วิลัยลักษณ์ สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย
  • นักรบ นาคประสม สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย
  • หยาดฝน ทนงการกิจ สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย
  • มุกริน หนูคง สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย
  • ชวกร ศรีเงินยวง สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย
  • กาญจนา นาคประสม สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเทศไทย

คำสำคัญ:

ดอกดาวเรื่อง, สารลูทีน, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ , การหาสภาวะที่เหมาะสม , การสกัดโดยใช้คลื่นอัลตราโซนิค

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์และที่มา : ดอกดาวเรือง (Tagetes erecta L.) เป็นพืชไม้ดอกเศรษฐกิจที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และเป็นแหล่งสำคัญของสารลูทีน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่มีบทบาทในการลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม และ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ลูทีนได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากการบริโภคอาหาร จากการศึกษาพบว่าการสกัดลูทีนโดยทั่วไปถูกสกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเซน และอะซิโตน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคนิคการสกัดสารลูทีนและสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากดอกดาวเรือง โดยใช้กระบวนการสกัดด้วยคลื่นอัลตราโซนิค (Ultrasound-assisted extraction: UAE) ร่วมกับเอทานอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่ปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นศึกษาผลของตัวแปรที่มีผลต่อประสิทธิภาพการสกัด ได้แก่ แอมพลิจูด, เวลาในการสกัด และความเข้มข้นของตัวทำละลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดและคงคุณสมบัติของสารสำคัญให้ได้สูงสุด

วิธีดำเนินการวิจัย : ดอกดาวเรืองถูกล้างด้วยน้ำที่ผ่านกระบวนการรีเวิร์สออสโมซิส (RO) จำนวน 3 ครั้ง เพื่อลดสิ่งสกปรกและการปนเปื้อน จากนั้นผึ่งแห้งในที่ร่มจนระดับความชื้นลดลงในเบื้องต้น ก่อนแยกกลีบดอกออกจากขั้ว และนำไปอบแห้งด้วยวิธีแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิ -40 °C ที่ความดันไม่เกิน 10 Pa จนกระทั่งมีความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 10 หลังจากนั้น นำกลีบดอกดาวเรืองที่อบแห้งแล้วมาบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบดแห้งอเนกประสงค์ที่ความเร็วรอบ 25,000 รอบต่อนาที ผงดอกดาวเรืองที่ได้จะถูกนำไปผสมกับตัวทำละลายเอทานอล และทำการสกัดด้วยเครื่องอัลตราโซนิคเพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการสกัดสารลูทีนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากดอกดาวเรือง ในการศึกษาใช้การออกแบบการทดลองแบบบ็อกซ์-เบห์นเคน(Box-Behnken Design: BBD) โดยศึกษาปัจจัยทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่ แอมพลิจูด (ร้อยละ 20, 40 และ 60), เวลาในการสกัด (5, 15 และ 25 นาที) และความเข้มข้นของตัวทำละลายเอทานอล (ร้อยละ 40, 60 และ 80) จากนั้นทำการวิเคราะห์ปริมาณสารลูทีนด้วยวิธีโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) และวิเคราะห์ปริมาณฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ผลการทดลองถูกนำมาวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS เพื่อศึกษาผลของปัจจัยต่าง ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่มีต่อประสิทธิภาพในการสกัดสารลูทีนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ผลการวิจัย : จากการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดสารลูทีนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากดอกดาวเรืองด้วยคลื่นอัลตราโซนิค พบว่า ความเข้มข้นของตัวทำละลายเอทานอล และเวลาในการสกัด เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระสิทธิภาพการสกัดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเอทานอลมีสมบัติเป็นตัวทำละลายกึ่งมีขั้ว จึงสามารถสกัดสารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชได้ทั้งสารที่มีขั้วและไม่มีขั้ว โดยเฉพาะสารในกลุ่มฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมักพบร่วมกับลูทีนในดอกดาวเรือง และมีบทบาทร่วมในการต้านอนุมูลอิสระ สำหรับเวลาในการสกัด พบว่าการเพิ่มระยะเวลาในระดับที่เหมาะสมสามารถส่งเสริมการแพร่และถ่ายเทมวลของสารออกฤทธิ์จากเนื้อเยื่อพืชเข้าสู่ตัวทำละลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากเวลาในการสกัดยาวนานเกินไป อุณหภูมิภายในระบบจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการสลายตัวของสารลูทีนเนื่องจากปฏิกิริยาออกซิเดชันภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจนและแสง และในส่วนของแอมพลิจูด พบว่าการเพิ่มแอมพลิจูด มีแนวโน้มช่วยเพิ่มปริมาณสารลูทีนที่สกัดได้ โดยผ่านกลไกของฟองอากาศที่เกิดจากคลื่นอัลตราโซนิค ซึ่งจะยุบตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างผนังเซลล์พืชแตกตัวและสารสำคัญสามารถแพร่ออกมาได้มากขึ้น หากแอมพลิจูดสูงเกินไปอาจก่อให้เกิดความดันและอุณหภูมิสะสมในระบบ ส่งผลให้สารสำคัญสลายตัว และแม้ว่าค่าดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณลูทีนที่สกัดได้ แต่กลับไม่แสดงนัยสำคัญทางสถิติเมื่อพิจารณาร่วมกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

สรุปผลการวิจัย : ดอกดาวเรืองมีองค์ประกอบของสารลูทีนและสารต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง ซึ่งสามารถสกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคนิคการสกัดด้วยคลื่นอัลตราโซนิค การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมโดยวิธีวิเคราะห์พื้นผิวตอบสนอง พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดคือ แอมพลิจูดร้อยละ 42 เวลาในการสกัด 16 นาที และความเข้มข้นของเอทานอลร้อยละ 80 ภายใต้สภาวะนี้สามารถสกัดลูทีนได้สูงสุด 7.06 มิลลิกรัมต่อกรัมตัวอย่าง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดร้อยละ 79.82 ผลการวิเคราะห์ ANOVA แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่สร้างขึ้นมีความแม่นยำและเชื่อถือได้ในการทำนาย โดยมีค่า R² ของปริมาณสารลูทีน (Y1) และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Y2) เท่ากับ 0.9691 และ 0.9943 ตามลำดับ และมีค่า Significance F ต่ำกว่า 0.001 แสดงถึงความเหมาะสมของแบบจำลองในการใช้งานเพื่อการทำนายผลการสกัดอย่างมีประสิทธิภาพ

References

Abia, S., Chanes, J., & Cano, M. (2022). Effect of Ultrasound-Assisted Extraction of Carotenoids from Papaya (Carica papaya L. cv. Sweet Mary) Using Vegetable Oils. Molecules, 27, 638

Altemimi, A., Lightfoot, D., Kinsel, M., & Watson, D. (2015). Employing Response Surface Methodology for the Optimization of Ultrasound Assisted Extraction of Lutein and β-Carotene from Spinach. Molecules, 20, 6611-6625.

Derrien, M., Badr, A., Gosselin, A., Desjardins, Y., & Angers, P. (2017). Optimization of a green process for the extraction of lutein and chlorophyll from spinach by-products using response surface methodology (RSM). Food Science and Technology, 79, 170-177.

Hemwimol, S., Pavasant, P., & Shotipruk, A. (2006). Ultrasound-assisted extraction of anthraquinones from roots of Morinda citrifolia. Ultrasonics Sonochemistry, 13, 543–548.

Ibrahim, A., & Sriherfyna, F. (2015). Effect of Temperature and Extraction Time on Physicochemical Properties of

Red Ginger (Zingiber officinale var. Rubrum) Extract with The Additional of Honey Combination as Sweetener for Functional Drink. Volume 3, 530-541.

Jaeschke, D., Rech, R., Marczak, L., & Mercali, G. (2017). Ultrasound as an alternative technology to extract carotenoids and lipids from Heterochlorella luteoviridis. Bioresource Technology, 224, 753-757.

Janepinich, P., Satirapipathkul, C., Kasetsomboon, N., & Yongphet, P. (2023). Enhancing lutein extraction from marigolds through ultrasound‑assisted optimization using response surface methodology. Maejo International Journal of Energy and Environmental Communication, 5(1), 14–19.

Kashyap, P., Singh, S., Singh, M., Gupta, A., Tandon, S., Shanker, K., Verma, R., & Verma, R. (2022). An efficient process for the extraction of lutein and chemical characterization of other organic volatiles from marigold (Tagetes erecta L.) flower, Food Chemistry, 396, 133647.

Kurniawan, J., Yusuf, M., Azmi, S., Salim, K., Prihastyanti, M., Indrawati, R., Heriyanto., Shioi, Y., Limantara, L., & Brotosudarmo, T. (2019). Effect of drying treatments on the contents of lutein and zeaxanthin in orange- and yellow-cultivars of marigold flower and its application for lutein ester encapsulation. In Proceeding Conference Series: Materials Science and Engineering. 509.

Manzoor, S., Rashid, R., Panda, B., & Sharma, V. (2022). Green extraction of lutein from marigold flower petals, process optimization and its potential to improve the oxidative stability of sunflower oil, Ultrasonics Sonochemistry, 85, 105994

Narkprasom, N., Narkprasom, K., & Upara, U. (2015). Optimization of Total Phenolic from Cleistocalyx nervosum by Microwave-Assisted Extraction. American Journal of Engineering and Applied Sciences, 8(3), 302-309.

Nguyen, D., Thrimawithana, T., Piva, T., Grando, D., & Huynh, T., (2023). Benefits of plant carotenoids against age-related macular degeneration. Journal of Functional Foods, 106.

Pingret, D., Tixier, A., & Chemat, F. (2013). Degradation during application of ultrasound in food processing: A review. Food Control, 31, 593-606.

Pratumyam, P., Lairungruang, K., Thimkorn, P., Obhasi, S., & Sangvichien, S. (2023). Antioxidant Activities and Total Phenolic Contents of Plook Fai Thatu Remedy. Journal of Traditional Thai Medical Research, 9 (1), 13-27. (in Thai)

Shimada, K., Fujikawa, K., Yahara, K., & Nakamura T. (1992). Antioxidative properties of xanthone on the auto oxidation of soybean in cylcodextrin emulsion. Agr. Food Chem, 40, 945–948.

Ye, J., Feng, L., Xiong, J., & Xiong, Y. (2011). Ultrasound-assisted extraction of corn carotenoids in ethanol. Food Science and Technology, 46, 2131-2136.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2025-07-07

How to Cite

วิลัยลักษณ์ น., นาคประสม น., ทนงการกิจ ห. ., หนูคง ม., ศรีเงินยวง ช., & นาคประสม ก. (2025). สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดสารลูทีน และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากดอกดาวเรืองโดยใช้อัลตราโซนิค. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 30(2 May-August), 597–613. สืบค้น จาก https://li05.tci-thaijo.org/index.php/buuscij/article/view/714