ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในตลาดโลก
คำสำคัญ:
การพยากรณ์ , ราคาทองคำ , การวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอนบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์และที่มา: ทองคำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจโลกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในการเก็บรักษามูลค่า ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพ ปริมาณที่มีจำกัด และการเป็นที่รู้จักในระดับสากล ทองคำจึงมีความโดดเด่นในฐานะสินทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ทองคำจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อ การลงทุนที่ปลอดภัย และเป็นองค์ประกอบสำคัญในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางหลายแห่ง ด้วยบทบาทดังกล่าว ความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลกจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย แม้ว่าทองคำจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคง แต่ราคาทองคำก็ยังมีความผันผวนสูง โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศที่ส่งอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ความเข้าใจในปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพยากรณ์แนวโน้ม และการตัดสินใจด้านการลงทุนและนโยบายอย่างมีข้อมูลรองรับ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำในตลาดโลกกับตัวแปรเศรษฐกิจที่คัดเลือกมา และระบุว่าตัวแปรใดที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลกระทบของตัวแปรอิสระ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบ WTI อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเงินบาท อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) ราคาโลหะเงินในตลาดโลก ราคาโลหะทองแดงในตลาดโลก และราคาโลหะแพลลาเดียมในตลาดโลก ตัวแปรเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกจากความเกี่ยวข้องทางทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่ามีศักยภาพในการส่งผลต่อราคาทองคำในตลาดโลก งานวิจัยนี้มุ่งวิเคราะห์ทั้งทิศทางและระดับของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเหล่านี้กับราคาทองคำในตลาดโลก
วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่เป็นข้อมูลอนุกรมเวลารายเดือนจำนวน 66 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 ประกอบด้วยตัวแปรตาม 1 ตัว คือ ราคาทองคำในตลาดโลก และตัวแปรอิสระ 9 ตัว ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากแหล่งฐานข้อมูลด้านการเงินและเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือ ในขั้นต้นของการวิเคราะห์ได้คำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน เพื่อหาระดับและทิศทางของความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างตัวแปร จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน เพื่อระบุว่าตัวแปรอิสระใดส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาทองคำในตลาดโลก การวิเคราะห์นี้ช่วยคัดเลือกเฉพาะตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อแบบจำลอง พร้อมทั้งตัดตัวแปรที่ไม่มีนัยสำคัญออก หลังจากนั้นทำการตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้นของการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ได้แก่ ความเป็นเชิงเส้น การแจกแจงปกติ ภาวะความแปรปรวนเท่ากัน และความสัมพันธ์เชิงเส้นพหุ
ผลการวิจัย: การวิเคราะห์สหสัมพันธ์พบว่าตัวแปรต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับราคาทองคำในตลาดโลกในระดับที่แตกต่างกัน โดยราคาน้ำมันดิบ WTI (X1) อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (X3) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (X4) และดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ (X5) มีความสัมพันธ์เชิงเส้นกันน้อยในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำในตลาดโลก (Y) ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลารห์สหรัฐฯ ต่อเงินบาท (X2) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ (X6) ราคาโลหะเงินในตลาดโลก (X7) และราคาโลหะทองแดงในตลาดโลก (X8) มีความสัมพันธ์เชิงเส้นกันปานกลางในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ราคาแพลลาเดียมในตลาดโลก (X9) ไม่มีความสัมพันธ์เชิงเส้นที่มีนัยสำคัญทางสถิติกับราคาทองคำในตลาดโลก และได้ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในตลาดโลกในรูปสมการถดถอย คือ = -1109.071+57.481X2-20.900X5+46.971X7 จากการวิเคราะห์การถดถอย พบว่ามีตัวแปรอิสระ 3 ตัวที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลารห์สหรัฐฯ ต่อเงินบาท (X2) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ (X5) และราคาโลหะเงินในตลาดโลก (X7) ตัวแปรทั้งสามนี้สามารถอธิบายความผันแปรของราคาทองคำในตลาดโลกได้ถึง 82.3% ตามค่าสัมประสิทธิ์การกำหนด ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการพยากรณ์ของแบบจำลอง ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลารห์สหรัฐฯ ต่อเงินบาท และราคาโลหะเงินมีความสัมพันธ์เชิงเส้นในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำในตลาดโลก ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์เชิงเส้นในทิศทางตรงกันข้าม โดยความสัมพันธ์ทั้งหมดมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
สรุปผลการวิจัย: ผลการศึกษานี้มีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย สำหรับนักลงทุน การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดหลักกับราคาทองคำในตลาดโลกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะในด้านการป้องกันความเสี่ยงและการกระจายสินทรัพย์ ความสัมพันธ์เชิงเส้นในทิศทางเดียวกันระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเงินบาทกับราคาทองคำในตลาดโลก ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของความผันผวนของค่าเงินในการวางแผนการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ ขณะเดียวกัน ราคาโลหะเงินที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาทองคำในตลาดโลกบ่งชี้ว่าควรติดตามแนวโน้มของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ควบคู่กัน เนื่องจากมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันจากทั้งความต้องการเชิงอุตสาหกรรมและการลงทุนสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพิจารณาทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนโลกเมื่อกำหนดนโยบายการเงินและการคลัง ความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามระหว่างอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กับราคาทองคำในตลาดโลก อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค สำหรับงานวิจัยในอนาคตอาจต่อยอดโดยการเพิ่มปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือดัชนีที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) ซึ่งอาจให้มุมมองเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความซับซ้อนของพฤติกรรมราคาทองคำในเศรษฐกิจโลก
References
Angsusochochi, S. (2024). Techniques for Analyzing the Relationship Between Variables. Nonthaburi: Sukhothai Thammathirat Open University. (in thai)
Bongkotprapa, J. (2021). The Study Of Interdependency Between The Movement Of The Gold Price, Oil Price, Exchange Rates, And Market Return In The United States Of America And Thailand. [The thesis for the Master's degree in Management at the College of Management, Mahidol University]. (in thai)
Charoenpanit, W. (2014). Economic Factors Affecting the Price of Gold Bullion in the Global Market. Graduate Journal, Academic Year 2014, 227 – 237. (in thai)
Durongwatthana, S. (2015). Regression Models: Analytics-bases Approach. Bangkok: Danex Intercorporation. (in thai)
Gold Trade Association. (2003). Properties and benefits of gold. Gold Journal, 1(1). (in Thai)
Gold Trade Association. (2024). What will the direction of gold prices be?. Gold Journal, 21(78), 34-36. (in Thai)
Jitthavech, J. (2015). Regression Analysis. Bangkok: National Institute of Development Administration. (in Thai)
Komoltrakulwattana, Y. (2014). Factors Affecting World Gold Price. [Degree of Master of Economics School of Economics, Sukhothai Thammathirat Open University] (in Thai)
MayuriSawan, T. (2016). Regression Analysis. Khon Kaen: Department of Statistics, Faculty of Science, Khon Kaen University. (in Thai)
Nusanan, P. (2019). The factors that influence the price of gold bars in Thailand. [The Independent Study of the Master of Arts in Economics Program, Business Economics Major, University of the Thai Chamber of Commerce.] (in thai)
Panichphong, W. (2002). Regression Analysis. Bangkok: Textbook Production Center, King Mongkut's University of Technology North Bangkok. (in Thai)
Sirivathan, S., & Thongruaendee, P. (2012). Affecting factors to the gold price in the world market. [Research of North Bangkok University]. (in Thai)
Supmonchai, S. (2002). Regression Analysis for Business. Bangkok: Pinkao Publication. (in Thai)
Tamti, R. (1992). Analysis of gold content in gold alloys and gold jewelry. Department of Science Service. 40(1), 3 – 6. (in Thai)
Wetthayawikomrat, R. (2018). Factors Affecting Gold Prices in The World Market. [An Independent Study Master of Business Administration. Faculty of Commerce and Accountancy, Thammasat University] (in Thai)

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2025 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
Burapha Science Journal is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated. Please read our Policies page for more information